สวทน.-พันธมิตรจัดเสวนา “เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า”

วันนี้ (19 เมษายน 2561) ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี- สวทน.ร่วมกับพันธมิตรจัดเวทีเสวนา “Open Forum: เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า EP 1: ความปลอดภัย” มุ่งเป้าถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาคเอกชน และภาคการศึกษามาร่วมเป็นวิทยากร อาทิ นายธิบดี หาญประเสริฐ รองประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย, ผศ.ดร.อมรรัตน์ แก้วประดับ เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, นายวันชัย มีศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท วีร่าออโตโมทีฟ จำกัด, นายจุมภฏ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการไฟฟ้านครหลวง, นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร และสภาวิศวกร ฯลฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่า สวทน. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย (CRDC) สภาวิศวกร สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย (AEITF) สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ตลอดจนมหาวิทยาลัยเครือข่าย จัดงานเสวนา “Open Forum: เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า EP 1: ความปลอดภัย” ขึ้น ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการมีเวทีอภิปรายความรู้ ความเข้าใจด้านยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนในประเทศ ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญอันจะนำไปสู่การเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่ถูกต้อง เข้าใจเหตุการณ์และข่าวสารความก้าวหน้าด้านยานยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนนำไปสู่การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

โดย สวทน. ในฐานะหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีแผนงานเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการถ่ายทอดความรู้จากต่างประเทศ การพัฒนากำลังคน การวิจัยและพัฒนา ผ่านความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย โดยในปีที่ผ่านมา สวทน. ได้ร่วมกับสถาบันเฟราน์โอเฟอร์ (Fraunhofer Gesellschaft) ของประเทศเยอรมนีจัดสัมมนาถ่ายทอดความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าให้กับภาคส่วนต่าง ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ สำหรับการจัดงาน Open Forum: เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีหน่วยงานทั้งจากภาคส่วนวิชาการ อย่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ภาครัฐ และภาคเอกชน มาแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับการเสวนาในครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหมายรวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าด้วย อาทิ ความเพียงพอของพลังงานไฟฟ้า สถานีชาร์ต รวมถึงมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนอาจมีความเข้าใจว่าการใช้งานยังเป็นเรื่องของอนาคต และยังไม่สะดวกในการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งความจริงแล้วการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยที่เราต้องเรียนรู้ ทั้งนี้ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in hybrid electric vehicle : PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (Battery electric vehicle : BEV) รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 นั้นแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว อาทิ การไฟฟ้านครหลวง มีการเตรียมความพร้อมในการเริ่มจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ผ่านการทดลองตั้งสถานีชาร์ต และทดลองใช้รถไฟฟ้าจริง มีการออกระเบียบมาตรฐานการติดตั้งสถานีชาร์ต ซึ่งยืนยันว่ามีพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าได้มีการออกมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรฐานของตัวรถยนต์ ระบบไฟฟ้า สถานีชาร์ต และมาตรฐานระบบประจุไฟฟ้าผ่านตัวนำ

ทั้งนี้ แม้มีการกำหนดมาตรฐานออกมาแล้ว การมีห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภคก็เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการมีการผลิตได้ตามมาตรฐานตามที่กำหนด และผู้บริโภคเองควรศึกษาระบบยานยนต์ไฟฟ้าให้เข้าใจ และควรให้ผู้ชำนาญการให้คำแนะนำเรื่องการติดตั้งจุดชาร์ตไฟเพื่อความปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ การเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องมีการปรับวิธีการผลิตบัณฑิตเพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ซึ่งประเด็นต่าง ๆ จะได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนใน Open Forum ครั้งถัดไป

อ้างอิง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *