มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำข้อตกลงร่วมกับ บริษัท ไทย อิเลคโทรโมทีฟ ในการสร้างสถานีปลายทางยานยนต์ไฟฟ้า (EV Terminal)

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายวันชัย มีศิริ ประธานบริษัท ไทย อิเลคโทรโมทีฟ ได้ร่วมลงนามทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการสร้างสถานีปลายทางสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Terminal ขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งสถานีปลายทางแห่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ตามเป้าหมายของ มธ.ในการที่จะรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุน การเดินทางด้วยยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษและช่วยลดโลกร้อน ภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2019

นายวันชัย มีศิริ แห่ง ไทย อิเลคโทรโมทีฟ กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ด้วยนวัตกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ให้ครอบคลุมทั้ง จักรยานยนต์ รถยนต์ แท็กซี่ ไปจนถึงรถบัส โดยจะเริ่มต้นสร้างสถานีปลายทางเพื่อให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อไปยังเส้นทางสายอื่นๆ โดยสถานีปลายทางนี้ จะประกอบด้วย หัวประจุไฟฟ้าทุกขนาด สำหรับใช้กับรถไฟฟ้าทุกแบบ รองรับการชาร์จทั้งแบบธรรมดา และแบบชาร์จเร็ว เพื่อนำไปใช้กับ จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็จะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง จากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยระบบโวล่าร์เซลล์ พร้อมระบบจัดเก็บพลังงานครบวงจร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถรองรับการให้บริการผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกๆวัน

ดร.ปริญญา กล่าวว่า ทาง ม.ธรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นคุณประโยชน์ของการเดินทางที่ไม่สร้างมลพิษจากไอเสียเครื่องยนต์ แต่หันมาเลือกใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องที่ศูนย์รังสิต และต่อจากนี้ก็จะส่งต่อโครงการดังกล่าวไปในทุกพื้นที่ของธรรมศาสตร์ และจะขยายไปสู่สังคมวงกว้าง ในอนาคตอันใกล้

ส่วนข้อจำกัดของรถอีวี เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะพัฒนา คือการสร้างสถานีให้บริการชาร์จ หรือเติมประจุ รองรับกลุ่มผู้ใช้ยานยนต์พลังไฟฟ้า โดยทาง ม.ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับ บริษัท ไทยอิเลคโทรโมทีฟ ประเทศไทย โดยคุณวันชัย เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้านี้ขึ้น ในนามของบริษัทฯเอง โดยทางมหาลัยเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในส่วนของสถานที่ สำหรับเรื่องของค่าบริการ ที่จะต้องมีการตกลงหาข้อสรุปในส่วนของราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และทาง ม.ธรรมศาสตร์ ก็ยังมีแผนในการนำรถในหน่วยงาน มาปรับแต่งให้เป็นรถพลังไฟฟ้าทั้งหมดอีกด้วย

นายสุรเดช วรรคาวิสันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท CLMV ENERGY Company ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทเป็นผู้พัฒนาโครงการระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดและสื่อสารครบวงจร ระบบผลิตไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงขนาดเล็กความร้อนร่วมจาก รีนิวก๊าซ หรือ คลีนก๊าซ Renewable Gas สำหรับประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าภายในสถานี และระบบทำความเย็นแบบ Thermo Dynamic ที่ไม่ใช่ไฟฟ้า 100% พร้อมระบบสื่อสารที่ทันสมัย eLTE Telecom รองรับการใช้งาน Internet จำนวนมากด้วยความเร็วระดับ 5G พร้อมระบบควบคุมการใช้และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากฟิวเซลล์, โออาซี, ไมโครเทอไบน์ และโซล่าเซลล์ พร้อมกักเก็บพลังงานหลายรูปแบบ โดยจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในโครงการอีกด้วย

อ้างอิง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *